Doctor At Home: ไทฟอยด์/ไข้รากสาดน้อย (Typhoid fever/Enteric fever) ไทฟอยด์ (ไข้ไทฟอยด์ ไข้เอนเทอริก ไข้รากสาดน้อย ก็เรียก) พบได้บ่อยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังที่ชาวบ้านรู้จักกันดีว่า ไข้หัวโกร๋น เพราะสมัยนั้นยังไม่มียารักษา เป็นไข้กันเป็นเดือนจนกระทั่งผมร่วง
พบได้ในทุกอายุ แต่จะพบมากในคนอายุ 10-30 ปี อาจพบว่ามีคนในละแวกใกล้เคียงเคยเป็นหรือกำลังเป็นโรคนี้ด้วย พบมากในฤดูร้อน แต่ก็พบได้ตลอดทั้งปี
บางครั้งอาจพบระบาดได้ โดยเฉพาะอ
ย่างยิ่งในท้องถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี
ผู้ติดเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการแสดง แต่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไทฟอยด์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ซัลโมเนลลาไทฟิ (Salmonell
a typhi)
โรคนี้สามารถติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระหรือปัสสาวะของผู้ป่วยหรือพาหะ หรือปนเปื้อนเชื้อจากแมลงวันตอม
นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อโดยทางเพศสัมพันธ์ที่มีการใช้ปากสัมผัสกับทวารหนักหรือองคชาตที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระในบริเวณทวารหนัก (ซึ่งพบในหมู่ชายรักร่วมเพศ)
เชื้อจะรุกล้ำเข้าไปในเยื่อบุลำไส้เล็กอาศัยอยู่ในกลุ่มเซลล์น้ำเหลือง (Peyer's patch) ทำให้ลำไส้อักเสบหรือเป็นแผล ขณะเดียวกันก็แพร่เข้าตับ ทางเดินน้ำดี และเข้าสู่กระแสเลือดแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด หัวใจ ไต สมอง กระดูก ไขกระดูก เป็นต้น
ระยะฟักตัว ประมาณ 14 วัน (7-21 วัน)
อาการ
ลักษณะโดดเด่น คือ มีไข้สูงลอยแบบเรื้อรัง
อาการจะค่อยเป็นค่อยไป โดยแรกเริ่มจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย คล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่มีน้ำมูก อาจมีเลือดกำเดาออก บางครั้งอาจมีอาการไอแห้ง ๆ และเจ็บคอเล็กน้อย
มักมีอาการท้องผูก (มักพบในผู้ใหญ่) หรือไม่ก็ถ่ายเหลว (มักพบในเด็ก) ร่วมด้วย
อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดแน่นท้อง ท้องอืด และกดเจ็บเล็กน้อย
ต่อมาไข้จะค่อย ๆ สูงขึ้นทุกวัน และจับไข้ตลอดเวลา ถึงแม้จะกินยาลดไข้ก็อาจไม่ลด ทุกครั้งที่จับไข้จะรู้สึกปวดศีรษะมาก
อาการไข้มักจะเรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจมีไข้สูงอยู่นาน 3 สัปดาห์ แล้วค่อย ๆ ลดลงจนเป็นปกติเมื่อพ้น 4 สัปดาห์ บางรายอาจ
เป็นไข้อยู่นาน 6 สัปดาห์ก็ได้
บางรายอาจ
มีอาการหนาวสะท้านเป็นพัก ๆ เพ้อ หรือปวดท้องรุนแรงคล้ายไส้ติ่งอักเสบ หรือถุงน้ำดีอักเสบ
ผู้ป่วยจะซึมและเบื่ออาหารมาก ถ้ามีอาการมากกว่า 5 วันผู้ป่วยจะดูหน้าซีดเซียว แต่เปลือกตาไม่ซีด (เหมือนอย่างผู้ป่วยโลหิตจาง) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคที่เรียกว่า หน้าไทฟอยด์
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่พบบ่อยและเป็นอันตราย ได้แก่ เลือดออกในลำไส้ (ถ่ายเป็นเลือดสด ๆ อาจถึงช็อกได้) และลำไส้ทะลุ (ท้องอืด ท้องแข็ง) ซึ่งจะพบหลังมีอาการได้ 2-3 สัปดาห์
นอกจากนี้ ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปอดอักเสบ โลหิตเป็นพิษ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ไตอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน กระดูกอักเสบเป็นหนอง (osteomyel
itis) โรคจิต (psychosis)
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรว
จร่างกาย โดยมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ในระยะแรก
อาจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนนอกจากไข้ 38.5-40 องศาเซลเซียส หน้าซีดเซียว (แต่เปลือกตาไม่ซีด) ฝ่ามือซีด ริมฝีปากแห้ง บางรายอาจ
พบอัตราชีพจรไม่สัมพันธ์กับไข้ที่ขึ้นสูง (relative bradycard
ia) บางรายอาจ
มีอาการท้องอืด กดเจ็บใต้ชายโครงขวาหรือท้องน้อยข้างขวา อาจพบจุดแดงคล้ายยุงกัด เมื่อดึงหนังให้ตึงจะจางหาย เรียกว่า โรสสปอต (rose spots) ที่หน้าอกหรือหน้าท้อง ซึ่งมักจะขึ้นหลังมีไข้ได้ 5 วัน และอยู่นาน 3-4 วัน
ระยะต่อมาอาจพบม้ามโต ตับโต และบางราย
อาจมีอาการดีซ่าน หรือโลหิตจาง (ถ้าเป็นเรื้อรัง)
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด ทำการทดสอ
บไวดาล (Widal test) ตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดขาว (มักต่ำกว่า 5‚000 ตัว/ลบ.มม.) นำเลือด อุจจาระ และปัสสาวะไปเพาะหาเชื้อ
การรักษาโดยแพทย์
1. แนะนำให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อน (เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก) ดื่มน้ำมาก ๆ นอนพัก ห้ามอาบน้ำเย็น ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้บ่อย ๆ และให้ยาลดไข้-พาราเซตามอล
2. ให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีให้เลือกอยู่หลายชนิด เช่น ไซโพรฟล็อกซาซิน, โอฟล็อกซาซิน, อะม็อกซีซิลลิน, คลอแรมเฟนิคอล, โคไตรม็อกซาโซล เป็นต้น นาน 5-21 วัน ขึ้นกับชนิดของยา
โดยทั่วไปหลังให้ยา 4-7 วัน อาการไข้จะเริ่มลง ถ้าไข้ไม่ลง หรือมีปัญหาเชื้อดื้อยา แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการเพาะเชื้อ และให้ยากลุ่มใหม่ (เช่น อะซิโทรไมซิน, เซฟิไซม์, เซฟทริอะโซน)
3. ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนมาก ท้องเดินรุนแรง ท้องอืด เบื่ออาหาร หรือมีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล ให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ และแก้ไขภาวะผิดปกติต่าง ๆ (เช่น ให้เลือดถ้ามีเลือดออกในลำไส้)
ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักหายเป็นปกติภายใน 2-3 สัปดาห์ มีน้อยรายที่อาจมีอาการกำเริบใหม่ ซึ่งเมื่อให้ยารักษาอีกรอบก็มักจะหายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยไว้จนได้รับการรักษาล่าช้าไป ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีไข้สูงตลอดเวลาทุกวันเกิน 4-7 วัน หรือมีไข้สูงในผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยไทฟอยด์ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นไทฟอยด์ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
2. กินยาปฏิชีวนะตามขนาดและครบระยะเวลาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
3. ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
4. ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ปวดศีรษะมาก ซึม หรือไม่ค่อยรู้สึกตัว
ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
ปวดท้องรุนแรง เจ็บหน้าอกมาก หรือหายใจหอบ
เบื่ออาหาร ดื่มน้ำได้น้อย หรืออาเจียน
ตาเหลืองตัวเหลือง หรือมีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว
ปวดข้อ ข้ออักเสบ
กินยาที่แพทย์แนะนำ 4-5 วันแล้วไม่ดีขึ้น หรือหลังจากไข้หายดีแล้วกลับมีไข้กำเริบใหม่
หลังกินยามีผื่นคัน ตุ่มพุพอง ปากบวม ตาบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ซีด จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ
มีความวิตกกังวล
การป้องกัน
1. ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันโรคบิดชิเกลลา
2. สำหรับผู้ป่วยควรแยกสำรับอาหารและเครื่องใช้ส่วนตัว อย่าปะปนกับผู้อื่น อุจจาระควรถ่ายลงในส้วม และควรล้างมือให้สะอาดหลังถ่ายอุจจาระ
3. ควรตรวจเชื้อในอุจจาระของผู้ประกอบการเกี่ยวกับอาหารในร้านอาหารและภัตตาคาร (เช่น คนครัว บริกร เป็นต้น) เป็นครั้งคราว เพื่อค้นหาผู้ที่เป็นพาหะของโรคนี้ที่อาจแพร่เชื้อให้ผู้บริโภคได้ ถ้าพบควรงดประกอบอาหารจนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อในอุจจาระ
4. การป้องกันด้วยวัคซีน ไม่แนะนำให้ใช้กับคนทั่วไป ควรใช้กับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังประเทศหรือถิ่นที่มีการระบาดของโรคนี้ และผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไทฟอยด์
ปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนป้องกันไทฟอยด์ทั้งชนิดกินและชนิดฉีดที่มีผลข้างเคียงน้อย
วัคซีนชนิดกินมีทั้งแบบแคปซูล (ใช้สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป) และแบบน้ำ (สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป) ให้กินครั้งละ 1 แคปซูล หรือ 1 ซอง วันเว้นวัน จำนวน 3 ครั้ง โดยกินร่วมกับน้ำเย็น (ห้ามใช้น้ำร้อน) ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง ควรงดการใ
ช้ยาต้านจุลชีพอย่างน้อยก่อนกินวัคซีนครั้งแรก และ 7 วันหลังกินวัคซีนครั้งสุดท้าย เนื่องจากวัคซีนชนิดกินเป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อเป็นแต่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง (live-attenuated) อาจถูกยาต้านจุลชีพทำลายได้
วัคซีนชนิดกิน หากจำเป็นสามารถกระตุ้นได้ทุก 5 ปี
ส่วนวัคซีนชนิดฉีดสามารถฉีดเข้ากล้ามหรือใต้ผิวหนังให้เด็กตั้งแต่อายุ 2 ปี ขนาด 0.5 มล. ครั้งเดียว หากจำเป็นสามารถกระตุ้นได้ทุก 2 ปี
ข้อแนะนำ
1. ในปัจจุบันพบปัญหาเชื้อดื้อยาบ่อย โดยเฉพาะอ
ย่างยาที่เคยใช้แต่เก่าก่อน (คลอแรมเฟนิคอล อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล) แม้ยาไซโพรฟล็อกซาซินและโอฟล็อกซาซิน ก็เริ่มมีปัญหาเชื้อดื้อยา ในการรักษาแพทย์อาจจำเป็นต้องทำการเพาะเชื้อและตรวจว่ายาชนิดใดที่ยังไวต่อเชื้อ แล้วเลือกใช้ยานั้นรักษา
2. การกลับเป็นซ้ำ บางรายแม้ว่าจะรักษาจนไข้หายแล้ว อาจมีไข้กำเริบได้ใหม่หลังจากหยุดยาไปประมาณ 2 สัปดาห์ แต่อาการไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก ควรให้ยารักษาซ้ำอีกครั้ง
3. ผู้ป่วยบางรายเมื่อหายแล้วอาจมีเชื้อไทฟอยด์หลบซ่อนอยู่ในถุงน้ำดี โดยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด เรียกว่า พาหะ (carrier) ของไข้ไทฟอยด์ ซึ่งมักปล่อยเชื้อออกมากับอุจจาระ แพร่กระจายให้ผู้อื่นต่อไปเรื่อย ๆ แพทย์สามารถตรวจพบโดยการนำอุจจาระไปเพาะเชื้อ และอาจให้การรักษาโดยให้โคไตรม็อกซาโซล หรืออะม็อกซีซิลลิน นาน 3 เดือน หรือไซโพรฟล็อกซาซิน นาน 1 เดือน ถ้ายังพบเชื้อในอุจจาระอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดถุงน้ำดีออก
4. อาการไข้สูงหรือมีไข้นานเกิน 7 วัน นอกจากไทฟ
อยด์แล้วยังต้องคิดถึงโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย ไข้เลือดออก สครับไทฟัส เล็ปโตสไปโรซิส เมลิออยโดซิส บรูเซลโลซิส เป็นต้น จึงควรซักประวัติและตรวจร่างกายให้ละเอียด (ตรวจอาการ
ไข้)