ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: แผลอักเสบ (Infected wound)แผลอักเสบเป็นภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนของบาดแผล (เช่น แผลถลอก มีดบาด ตะปูตำ หนามเกี่ยว สัตว์กัด เป็นต้น)
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (สเตรปโตค็อกคัส หรือสแตฟีโลค็อกคัส) เข้าไปทำให้อักเสบเป็นหนอง
อาการ
บาดแผลมีลักษณะปวด บวม แดง ร้อน หรือเป็นหนอง บางรายอาจ
มีไข้หรือต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงโตร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่มักดูแลรักษาให้หายขาด และไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ มีแผลอักเสบรุนแรง หรือไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด ทำให้เป็นโลหิตเป็นพิษได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ในบางรายแ
พทย์อาจนำหนองจากรอยโรคไปตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ชะล้างแผลด้วยน้ำเกลือ (ใช้เกลือ 1 ช้อนโต๊ะใส่ในน้ำ 1 ลิตร ต้มให้เดือด) หรือน้ำเกลือนอร์มัล (normal saline)
ถ้าเป็นหนองเฟะ ควรชะล้างด้วยไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ แล้วล้างด้วยน้ำเกลือ ใช้น้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมเข้มข้น (น้ำตาลทราย 1 กก. ผสมในน้ำ 1 ลิตร เคี่ยวบนเตาไฟ) ใส่แผล แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซสะอาด ควรทำแผลอ
ย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง เมื่อเนื้อแผลแดงไม่มีหนองแล้ว ควรชะแผลด้วยน้ำเกลือเพียงอย่างเดียว ไม่ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ ชะตรงเนื้อแผล
2. ถ้ามีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือแผลอักเสบมากให้ยาแก้ปวดลดไข้ และยาปฏิชีวนะ (เช่น เพนิซิลลินวี, ไดคล็อกซาซิลลิน, อีริโทรไมซิน, โคอะม็อกซิคลาฟ) นาน 5-7 วัน
3. ถ้าไข้ไม่ลดใน 3 วัน ซีดเหลือง หรือสงสัยเป็นโลหิตเป็นพิษ หรือบาดแผลมีลักษณะอักเสบรุนแรงในผู้ที่เป็นเบาหวานอยู่ก่อน มักจะต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
การดูแลตนเอง
หากสงสัยเป็นแผลอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นแผลอักเสบ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
มีไข้สูง หนาวสั่น ซึม หรือเบื่ออาหาร
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
แผลอักเสบเป็นหนองมักเกิดจากการดูแลบาดแผลสด (เช่น แผลถลอก มีดบาด) ที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงควรแนะนำการดูแลบาดแผลสด ดังนี้
เมื่อมีบาดแผลสด ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ทันที เพื่อชะล้างเอาสิ่งสกปรกออกไป
ทารอบแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน อย่าใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรวมทั้ง ไฮโดรเจนเ
พอร์ออกไซด์ทาหรือฟอกตรงเนื้อแผล เนื่องจากน้ำยาฆ่าเชื้ออาจทำลายเนื้อเยื่อ ทำให้แผลหายช้าได้
อย่าให้แผลถูกน้ำ หรือใช้น้ำลาย น้ำหมาก หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ พอกที่แผล
ควรพักส่วนที่เป็นบาดแผลให้มาก ๆ
กินอาหารได้ตามปกติ ควรกินอาหารพวกโปรตีน ผักและผลไม้ให้มาก ๆ
ถ้าบาดแผลสกปรก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ยาปฏิชีวนะ
ข้อแนะนำ
1. ควรพักแขนขาส่วนที่มีบาดแผล (เช่น อย่าเดินหรือใช้งานมาก) และยกส่วนนั้นให้สูง เช่น ถ้ามีบาดแผลที่เท้า ควรนอนพักและใช้หมอนรองเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอก ถ้ามีบาดแผลที่มือ ควรใช้ผ้าคล้องแขนกับลำคอให้บาดแผลอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ
2. ไม่มีอาหารใด ๆ ที่แสลงต่อบาดแผล ไม่ว่าจะเป็น ไข่ เนื้อ ส้ม (ดังที่ชาวบ้านมักเชื่อกันอย่างผิด ๆ) ตรงกันข้ามควรบำรุงด้วยอาหารพวกโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ) ให้มาก ๆ จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
3. ไม่ควรทาแผลด้วยเพนิซิลลิน (ทั้งชนิดขี้ผึ้งหรือยาฉีดที่เรียกว่า โปรเคน) หรือซัลฟา (ทั้งชนิดขี้ผึ้งหรือยาผง) ยานี้ระยะแรก ๆ อาจทำให้แผลแห้ง แต่ทาต่อไปจะทำให้เกิดการแพ้ มีอาการบวมคัน และแผลกลับเฟะได้ ถ้าจะใช้ยาทาควรใช้ขี้ผึ้งเตตราไซคลีนหรือครีมเจนตาไมซิน น้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม
4. ผู้ที่เป็นแผลเรื้อรังไม่หายขาด อาจเนื่องจากมีภาวะซีดหรือขาดอาหาร จึงควรบำรุงอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารพวกโปรตีน
นอกจากนี้อาจมีสาเหตุจากเบาหวาน ควรตรวจดูน้ำตาลในปัสสาวะหรือในเลือด ถ้าสงสัยเป็นเบาหวาน ควรส่งโรงพยาบาล
5. ฉีดยาป้องกันบาดทะยักในรายที่จำเป็น (ดูโรค "บาดทะยัก" เพิ่มเติม)